ตะกรุด หลวงพ่อภู วัดดอนรัก
หลวงพ่อภู จันทโชติ วัดดอนรัก (วัดมงคลธรรมนิมิต)
เกิดเมื่อปี พ.ศ.2419 อุปสมบท โดยมีหลวงพ่อเข็ม วัดข่อย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา “จันทโชติ” เป็นศิษย์หลวงพ่อเข็ม วัดข่อย
มรณภาพเมื่อปีพ.ศ. 2503 อายุ 84 ปี
.
.
ประสบการณ์นำไปสู่การเล่าขานและกลายเป็นตำนานในที่สุด…..
ตะกรุดสำนักแรกที่ได้รู้จัก เพราะเมื่อก่อนตอนเป็นเด็กในละแวกแถวบ้าน ถ้าเอ่ยถึงตะกรุดแล้วก็ต้องยกให้ตะกรุดของ หลวงพ่อภู จันทโชติ แห่งวัดดอนรัก (วัดมงคลธรรมนิมิต) อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง
.
เป็นตะกรุดที่ขึ้นชื่อลือชามากที่สุด และนับได้ว่าเป็นตะกรุดที่ฝ่ายบู๊เชื่อถือกันอย่างสนิทใจ ซึ่งก่อให้เกิดประสบการณ์เล่าขานถึงความเข้มขลังกันอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบัน
.
สำหรับอิทธิคุณแห่งตะกรุดหลวงพ่อภู วัดดอนรัก เท่าที่ร่ำลือตรงกันมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นในด้านมหาอุดจึงกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตะกรุดในตำนานที่นับวันจะหาได้ยากขึ้นทุกที
.
จากข้อมูลที่เคยได้ยินได้ฟังและสอบถามเกี่ยวกับการเจริญภาวนาของหลวงพ่อภู วัดดอนรัก ทำให้เชื่อว่าท่านมีความชำนาญกสิณน้ำ ทั้งการนั่งในน้ำตอนท่านสรงน้ำหรือแม้กระทั่งการสมาธิในน้ำกับหลวงพ่อเล็ก วัดพร้าว อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเท่าที่สอบถามถึงลักษณะการนั่งในน้ำนี้มิใช่เป็นการนั่งบนผิวน้ำแต่เป็นการนั่งจมลงในน้ำประมาณครึ่งตัว (ข้อมูลส่วนนี้โปรดใช้วิจารณาญาณในการพิจารณาเพราะเกร็ดประวัติที่นำมาเล่าไว้ก็เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงข้อสันนิษฐานว่าท่านน่าจะชำนาญหรือใช้กสิณน้ำลงตะกรุดจึงทำให้ตะกรุดของท่านขึ้นชื่อในด้านหยุดปืนและแคล้วคลาด)
.
สำหรับยันต์ที่ใช้ลงตะกรุดเชื่อว่าตะกรุดของท่านลงด้วยยันต์ตารางสิบหกช่องเดินด้วยคาถาพระเจ้าสิบหกพระองค์เมื่อถอดยันต์แล้วจะได้ว่า
.
“นะ มะ นะ อะ
นอ กอ นะ กะ
กอ ออ นอ อะ
นะ อะ กะ อัง”
.
เนื่องจากเท่าที่ได้คลี่ตะกรุดและเทียบสอบทานกับที่คนในพื้นที่ที่เคยคลี่ปรากฏว่าตรงกันและเป็นยันต์แบบเดียวกับที่ลงด้านหลังเหรียญเสมา (รุ่นหลัง) ที่วัดดอนรักได้จัดสร้าง
.
สำหรับตะกรุดบางดอกที่ผ่านการใช้มาน้อยเมื่อนำมาส่องดูจะเห็นรอยตารางด้านในและลายมือของท่านจะจารเส้นเล็กคม
.
ตะกรุดหลวงพ่อภู วัดดอนรัก ในยุคแรกเป็นตะกรุดทำด้วยตะกั่วทุบในระยะแรกขนาดความยาวและความใหญ่ของดอกตะกรุดไม่มีขนาดแน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณและขนาดของตะกั่วตามแต่จะหาได้หัวท้ายมักจะไม่เท่ากัน ยังไม่มีมาตรฐานหรือเอกลักษณ์ที่ชัดเจนในการแยกแยะ หากนับรอบม้วนประมาณสามรอบครึ่งเกือบสี่รอบบริเวณตะเข็บส่วนใหญ่จะไม่เป็นเส้นตรงแต่จะมีลักษณะโค้งน้อย ๆ แบบท้องปลิง
.
เมื่อพูดถึงตะกั่วที่จะนำมาทำตะกรุดเท่าที่ทราบมีหลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้
.
1. ตะกั่วนม เป็นตะกั่วที่หล่อเป็นไว้เป็นก้อนคล้ายขนมครกหรือมีลักษณะคล้ายนมสาว
2. ตะกั่วถ้ำชา เป็นตะกั่วแผ่นที่ใช้สำหรับกรุรังไม้ที่ใช้บรรจุชาเพื่อป้องกันความชื้น และ
3. ตะกั่วที่รวบรวมมาจากเศษตะกั่วเหลือใช้ อาจจะเป็นตะกั่วอวน ตะกั่วหัวลูกปืน เป็นต้น โดยนำตะกั่วตามแต่จะมีมาหลอมเป็นแท่งแล้วใช้ค้อนทุบให้แผ่เป็นแผ่น ดังนั้น แผ่นตะกั่วที่ทำด้วยกรรมวิธีนี้จะไม่เรียบเนียนเสมอกัน
ส่วนตะกรุดในยุคต่อมาทำจากแผ่นตะกั่วที่ใช้เครื่องรีดเป็นแผ่น โดยหลอมตะกั่วเป็นแท่งเหมือนเดิม ว่ากันว่าจะทำการหลอมตะกั่วแล้วเทใส่กระบอกไม้ไผ่รวกที่ตัดเป็นท่อน ๆ เพื่อให้เป็นแท่ง แล้วนำไปผ่านเครื่องรีดซึ่งมีลักษณะคล้ายเครื่องรีดปลาหมึก แต่ลูกโม่จะมีเป็นกระบอกเรียบไม่ได้มีลักษณะเป็นร่องเฟือง แล้วนำมาตัดเป็นแผ่นสำหรับลงตะกรุดต่อไป ส่วนความหนามีพอประมาณไม่ถึงกับบางแบบกระดาษหรือแผ่นตะกั่วสำเร็จรูปในปัจจุบัน ตะกั่วค่อนข้างมีความแข็งตัวเล็กน้อย สำหรับตะกรุดในยุคนี้เท่าที่เคยเจอมีทั้งตะกรุดโทน และตะกรุดชุด ซึ่งตะกรุดชุดนี้จะทำการถักเชือกร้อยตะกรุดเข้าชุดเป็นพวงมีทั้ง ตะกรุดชุด 12 ดอก และตะกรุดชุด 13 ดอก (ในส่วนตะกรุดชุด 13 ดอกนี้จะมีอยู่ตะกรุดอยู่ดอกหนึ่งที่ไม่ได้ร้อยเป็นคู่ ๆ จะถูกร้อยแบบเดี่ยว ๆ และมีขนาดใหญ่กว่าดอกอื่นในชุดจึงมักจะทำให้ถูกตัดแยกออกไป)
.
.
ความยาวมาตรฐานของตะกรุดในยุคนี้จะยาวราวนิ้วมือสี่นิ้วเรียงกัน เมื่อนับจำนวนรอบม้วนจะราวสามรอบครึ่งส่วนแนวตะเข็บโค้งเป็นท้องปลิงน้อย ๆ ไม่เป็นแนวตรงเสียทีเดียว สำหรับตะกรุดของหลวงพ่อภู วัดดอนรัก จะมีทำจากโลหะอื่นด้วยหรือไม่นั้นไม่ขอยืนยัน แต่อย่างไรก็ตามท่านได้ทำตะกรุดหนังเสือไว้ด้วยจำนวนหนึ่งสืบเนื่องมาจากมีผู้นำหนังเสือมาขอให้ท่านทำเป็นตะกรุดให้ ตะกรุดหนังเสือนี้ค่อนข้างยาวกว่าตะกรุดขนาดมาตรฐานและมีการผู้เชือกไว้ด้วยกันสามเปลาะ คือ หัว กลาง และท้าย การผูกไม่ได้ผูกแบบโยงเส้นเชือกแบบตะกรุดหนังเสือหลวงปู่นาค วัดแจ้ง และเมื่อทำเสร็จแล้วทางเจ้าของก็ยังไม่ได้มารับคืนไปจนกระทั่งท่านมรณภาพ
.
ที่มา : FB : เกร็ดประวัติพระเครื่องราง
iPOOM @ วันพืชมงคล ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘
Related posts:
ตะกรุด หลวงพ่อภู วัดดอนรัก